วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อิสลามศึกษา

มาสัมผัสกับมุสลิมในประเทศไทย
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาสำคัญที่คนไทยนับถือมายาวนานหลายศตวรรษ ปัจจุบันคาดว่ามีคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 หรือ หนึ่งในสิบของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ผู้นับถือศาสนาอิสลามของบางประเทศเช่น บรูไน มีประชากรทั้งประเทศเพียง 300,000คนหรือบางประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ลิเบีย ซึ่งมีประชากรทั้งประเทศเพียง 5-6 ล้านคน ฉะนั้นประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยจะเท่ากับประชากรประเทศหนึ่งทีเดียว นับว่าเป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
ความเป็นมาของศาสนาอิสลามในประเทศไทย ตามหลักฐานที่มีอยู่นั้นเห็นได้ว่าศาสนา
อิสลามได้เข้ามาในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 หรือบางรายงานก็บอกว่าศาสนาอิสลามเข้ามาในศตวรรษที่13โดยการเผยแพร่ศาสนาในสมัยโบราณนั้นกระทำได้ 3 ทางด้วยกัน คือ ประการแรก ใช้กำลังทหาร ประการที่สอง โดยมาทางนักบุญหรือผู้สอนศาสนา และประการสุดท้าย เข้ามาโดยพ่อค้า ซึ่งการเผยแพร่ศาสนาอิสลามเข้ามายังประเทศไทยจะใช้ประการหลังสุดได้แก่การที่พ่อค้านำมาเผยแพร่ การที่ไม่ใช้กำลังทหารรุกรานเข้ามาทำให้แผ่นดินนี้เกิดความสงบ สันติ ไม่มีการรบราฆ่าฟันกัน
อิสลามแพร่หลายเข้ามาโดยกลุ่มพ่อค้าอาหรับที่นำศาสนาอิสลามเข้ามา โดยพ่อค้าเหล่านั้นจะเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายในดินแดนที่ตนมาอยู่จนมีฐานะร่ำรวย แล้วมีความสัมพันธ์กับเจ้าผู้ครองนคร และในที่สุดเจ้าผู้ครองนครในบริเวณนี้มีความศรัทธาในศาสนาอิสลามและหันมานับถือศาสนาอิสลาม และมีพ่อค้าอาหรับบางคนได้มาแต่งงานกับชาวพื้นเมือง จึงอาศัยในแถบนี้โดยไม่หวนกลับไปยังถิ่นกำเนิดของตนอีก สำหรับคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือเรียกว่ามุสลิมไทยก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม ในระยะใกล้เคียงกันนี้ ในอดีตคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้เคยนับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมาก่อน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมอ่อน และมีความเชื่อถือในไสยศาสตร์ด้วย การยอมรับเอาศาสนาอิสลามเข้ามานับถือแทนศาสนาหรือลัทธิความเชื่อเดิมของตนจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดินแดนที่เป็นแหล่งรับวัฒนธรรมด้านศาสนาอิสลามเข้ามาในช่วงแรก ๆ ของไทยก็คือบริเวณทางใต้สุดของประเทศไทยได้แก่ ปัตตานี และหากจะถือเอากรุงสุโขทัย(ราว พ.ศ.1800) เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยและ ถือได้ว่าศาสนาอิสลามได้เข้ามาในประเทศไทยก่อนหน้าที่จะตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ก่อนที่คนไทยจะย้ายมาจากยูนนานดินแดนทางภาคใต้ของประเทศจีน และศาสนาอิสลามหรือคนที่นับถือศาสนาอิสลามน่าจะอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์ของชาติไทยเพราะศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้ามาถึงอินโดนีเซียและในแหลมมลายูก่อนที่ชนเผ่าไทยจะเคลื่อนย้ายมาจากยูนนาน จึงเป็นการยืนยันได้ว่าชาวมุสลิมได้เข้ามาอยู่ในดินแดนทางภาคใต้ก่อนที่จะตั้งกรุงสุโขทัย ดังนั้นชาวมุสลิมจึงไม่ได้เข้ามาอาศัยแผ่นดินไทยตามที่คนส่วนหนึ่งเข้าใจกัน
อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าปัตตานีตกเป็นของไทยในสมัยใด แต่ในสมัยสุโขทัยนั้นมีอาณาเขตถึงนครศรีธรรมราชอันเป็นเมืองทางใต้ ส่วนเขตการปกครองของนครศรีธรรมราชนี้ยาวไปถึงแหลมมลายู สิงคโปร์ มะละกา ซึ่งการปกครองจะใช้วิธีส่งดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองสามปีต่อครั้ง ถ้าหากไม่จัดส่งตามกำหนดระยะเวลาทางอาณาจักรใหญ่ก็จะส่งกองทัพไปปราบปรามเมืองขึ้นนั้น
ปัจจุบันชาวมุสลิมที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยจะมีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากหลายแห่ง ได้แก่ พวกแรก พวกที่มีบรรพบุรุษเป็นมลายูหรือมาเลย์ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด พวกที่สอง เป็นมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากเปอร์เซีย พวกที่สาม มีเชื้อสายชวา พวกที่สี่ มีเชื้อสายมาจากจาม – เขมร พวกที่ห้า สืบเชื้อสายมาจากเอเชียใต้ จากอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศและอัฟกานิสถาน และพวกสุดท้าย เป็นมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากจีน
มุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากมลายูหรือมาเลย์
เป็นชาวมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และบางส่วนในจังหวัดสตูลและสงขลา นอกจากนี้ยังอยู่ในภาคอื่น ๆ อาทิเช่น จังหวัดอยุธยาเป็นจังหวัดที่มีชาวมุสลิมอยู่มากคือประมาณ 160,000 คน โดยมุสลิมเหล่านั้นได้ถูกกวาดต้อนมาไว้ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่สมัยพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นอกจากนี้จะมีมากในแถวจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทราและนนทบุรี ส่วนในกรุงเทพมหานครไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ในที่หลายๆแห่ง เช่น ธนบุรี สี่แยกบ้านแขก ทุ่งครุ พระประแดง บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก เป็นต้น
มุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษอาหรับเปอร์เซียหรืออิหร่าน
ซึ่งชาวอาหรับเปอร์เซียนี้ได้ติดต่อค้าขายกับคนไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งชาวเปอร์เซียนี้ได้เข้ามาค้าขายในไทย และได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ทางใต้ของประเทศไทยด้วย
ซึ่งชาวเปอร์เซียนี้จะนับถือศาสนาอิสลามทั้งนิกายซุนนีและชีอะห์ ชาวมุสลิมจากเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ไทยได้แก่ ชัยค์(เฉก) อะห์มัด กูมี (Shieak Ahmad Qumi) ซึ่งเข้ามาประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ก่อน พ.ศ. 2143)โดยท่านผู้นี้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์มาเผยแพร่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม Shieak Ahmad Qumi เจริญรุ่งเรืองในทางราชการในราชสำนักของไทย ได้รับยศเทียบเท่าเจ้าพระยา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพาณิชย์ และช่วยปรับปรุงราชการด้านกรมท่าขวา และได้เป็นจุฬาราชมนตรี มีหน้าที่เก็บภาษีสินค้าเข้าออก ดูแลการเดินเรือระหว่างประเทศและดูแลกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ท่านผู้นี้เป็นต้นตระกูลบุนนาค บุณยรัตตพันธ์ ศรีเพ็ญ สุคนธาภิรมย์ เป็นต้น ขณะนี้มุสลิมนิกายชีอะห์จากเปอร์เซียจะอยู่กันมากย่านเจริญพาสน์ ฝั่งธนบุรี
มุสลิมที่มีบรรพบุรุษจากชวา
จากหลักฐานที่ค้นพบถ้วยชามสังคโลกในอินโดนีเซียเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยกับอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ในสมัยอยุธยานั้นก็มีชาวชวามาตั้งหลักแหล่งอยู่เช่นเดียวกันกับคนกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเรื่องราวของชาวชวาไม่ได้ปรากฏขึ้นอีกในประวัติศาสตร์ของไทย ทั้งนี้คาดกันว่าชาวชวาคงถูกกลืนหายไปกับชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ อย่างไรก็ตามมีหลักฐานยืนยันว่าชาวชวาเข้ามาไทยอีกในสมัยรัชกาลที่ 5 การที่ชาวชวาเข้ามาน่าจะมีสาเหตุมาจากการทำมาหากิน เพราะค่าจ้างในไทยสูงกว่าในชวาถึง 3 เท่า และในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองชาวชวาถูกญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ชาวชวาก็หนีมาอาศัยอยู่ในไทยไม่ยอมกลับอินโดนีเซีย ปัจจุบันในกรุงเทพฯจะมีมุสลิมเชื้อสายชวามากรองจากเชื้อสายมาเลย์เท่านั้น โดยตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ท้องที่ เขตพระราชวัง ชนะสงคราม บางขุนพรหม สามเสน ดุสิต นางเลิ้ง ประแจจีน บ้านทวาย สาทร บางรัก พาหุรัด สำราญราษฎร์ เป็นต้น
มุสลิมที่มีเชื้อสายมาจากจาม-เขมร
ในอดีตนั้นจามมีประเทศเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแต่เผ่าพันธุ์เท่านั้น ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทหารอาสามาจากเขมรที่นับถือศาสนาอิสลามได้เข้ามาอาสารบกับข้าศึกของไทย เหตุที่ทหารอาสาจามเข้ามาประเทศไทยเนื่องจากอาณาจักรปาของจามถูกเวียดนามรุกราน ชาวจามส่วนหนึ่งจึงอพยพหนีออกนอกประเทศ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 นั้น แขกจามบางคนก็ตกเป็นเชลยเช่นเดียวกับคนไทย บางคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามคลองแสนแสบที่เรียกว่า เจริญผล ในสมัยรัชกาลที่ 5 พวกจามจำนวนหนึ่งก็อพยพตามเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองเขมรเวลานั้นเข้ามา บริเวณที่แขกจามตั้งหลักแหล่งอยู่เวลานี้ได้แก่ บริเวณบ้านครัว ตั้งแต่เจริญผลฝั่งตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติไปจรดอุรุพงษ์ หลักแหล่งที่อื่นก็มีมัศยิดวัดสุวรรณ ถนนเจริญนคร ตำบลน้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด และที่พุ่มเรียง จ.สุราษฎร์ธานี
ชาวมุสลิมเชื้อสายเอเชียใต้
มีหลักฐานว่าในสมัยอยุธยาชาวอินเดียได้เข้ามาค้าขายในประเทศไทยจนมั่งคั่งร่ำรวย ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปิดทำสัญญากับมหาอำนาจตะวันตก ได้มีมุสลิมจากอินเดีย ปากีสถานและอัฟกานิสถานได้เข้ามาขอเป็นคนในบังคับของอังกฤษ เพราะเชื่อว่าจะทำการค้าได้สะดวก คนในบังคับต่างชาติเหล่านี้มาตั้งรกรากอยู่ในกรุงเทพฯ แถบบางรัก มหานาค ราชวงศ์ สามเสน เยาวราช วรจักร สีลม และบางส่วนก็อพยพไปขายผ้าตามต่างจังหวัด ปัจจุบันคนพวกนี้ตั้งรกรากอยู่ทั่วประเทศไทยและได้แต่งงานกับผู้หญิงพื้นเมืองและมีอาชีพค้าขายโดยทั่วไป
มุสลิมที่มีเชื้อสายมาจากจีน
คนเหล่านี้ได้เข้ามาประเทศไทยทางชายแดนภาคเหนือ โดยตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเชียงรายลำพูน แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ จีนฮ่อมุสลิมเข้ามาประเทศไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนสาเหตุที่เข้ามายังประเทศไทยนั้นน่าจะเนื่องมาจากการลุกฮือของมุสลิมในปี 2498 เพราะไม่พอใจการปกครองของจีนทำให้จีนฮ่อถูกสังหารเป็นจำนวนมาก การอพยพครั้งต่อมามีขึ้นในปี 2493 เมื่อประเทศจีนเป็นคอมมิวนิสต์กองพล 93 ที่เป็นทหารของเจียงไคเช็คแห่งก๊กมินตั๋งจึงไม่อาจอยู่ในประเทศจีนต่อไปได้ จึงอพยพมาที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ทหารจีนเหล่านั้นบางส่วนเป็นมุสลิมเช่นเดียวกับจีนฮ่อ จึงรวมตัวกันพำนักอยู่ที่เชียงใหม่

วิถีชีวิตของชาวมุสลิม
วิถีชีวิตของชาวมุสลิมส่วนใหญ่นั้น จะประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยเฉพาะที่อยู่ในดินแดนใต้สุดของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจนกว่ามุสลิมในดินแดนอื่น ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีการประกอบอาชีพทางการประมงบ้าง ส่วนมุสลิมในภาคอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะมีฐานะค่อนข้างดี เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าเนื้อเป็นหลัก ในภาคกลางและในกรุงเทพมหานครชาวมุสลิมจะมีฐานะดี เป็นเจ้าของที่ดินที่มีราคาสูง และชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะเลือกที่อยู่ติดกับแม่น้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลองต่าง ๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชาวมุสลิมด้วยกัน
ไม่ว่าจะมีบรรพบุรุษมาจากเชื้อสายใด ชาวจีนฮ่อ คนที่มีเชื้อสายมาจากเอเชียใต้ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน คนที่มีเชื้อสายมาจากเปอร์เซีย มลายู จะมีความรักใคร่กลมเกลียวกันระหว่างพี่น้องมุสลิม พี่น้องต่างมุสลิมและพี่น้องต่างศาสนา ลักษณะของความสัมพันธ์ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่น่ายกย่องมากก็คือในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจะเห็นความขัดแย้งกันระหว่างศาสนาน้อยมากระหว่าง เพื่อนร่วมศาสนาและต่างศาสนา ชาวมุสลิมก็จะเข้ากันได้เป็นอย่างดี
แม้แต่ในภาคใต้ของประเทศไทยก็จะไม่เห็นความขัดแย้งทางศาสนา ความขัดแย้งอาจจะเกิดจากสาเหตุด้านอื่น ด้านการเมือง ด้านการทหาร ด้านอุดมการณ์ แต่ไม่ได้มีความขัดแย้งเรื่องการอยู่ร่วมกัน ชาวมุสลิมจะอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆอย่างมีความสุข มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีตัวอย่างให้เห็นอย่างมากมายที่วัดกับโรงเรียนปอเนาะมีความสนิทสนมกัน และจะเห็นได้ว่าพ่อค้าบางวส่วนที่มาจากอินเดีย มาจากอาหรับหรือตะวันออกกลางทุกคนจะอยู่ร่วมกันเป็นอย่างดี และกลายเป็นคนไทยในที่สุด กลายเป็น
คนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทยและดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทย
เมื่อคนที่มาจากแหล่งต่าง ๆ เข้ามาพร้อมกับศาสนาอิสลาม ดังนั้นอิสลามจึงมาพร้อมกับพ่อค้าที่นำศาสนาอิสลามมาด้วย และค่อย ๆ เปลี่ยนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะโลกที่เรียกว่าเป็นมาเลย์เวิร์ล (Malay World) เป็นดินแดนที่นับถือศาสนาอิสลาม กฏเกณฑ์ทางศาสนาอิสลามซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอาหรับ คัมภีร์อัลกุรอานได้รับการอ่านการสอนเริ่มในโรงเรียน มีโต๊ะครูในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัตตานีจำนวนมาก
เมื่อคนมุสลิมไม่ว่าจะมาจากที่ใดก็ตาม เมื่อเป็นคนไทยแล้ว ก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีวัฒนธรรมของตัวเองคือวัฒนธรรมแบบอิสลาม เช่น มีประเพณีการแต่งงาน ประเพณีรับประทานอาหารเป็นของตนเอง มีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ การให้เกียรติผู้ที่มีอายุในบ้าน ในประเทศอิสลามนั้นจะไม่มีสถานรับเลี้ยงคนชรา เพราะถือว่าคนมีอายุมากควรได้รับการดูแล ไม่ถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวและเหงาเศร้าอยู่ห่างไกลลูกหลาน ฉะนั้นในศาสนาอิสลามคนที่มีอายุสามารถบอกให้ลูกหลานเชื่อฟังได้
ประเพณีของอิสลาม
เมื่อมีคนเสียชีวิตชาวบ้านก็จะช่วยกันขุดหลุมศพ ปั้นลูกดินขนาดใหญ่เพื่อใส่ในหลุม จะมีผู้คนไปร่วมหลับนอนในบ้านที่มีคนเสียชีวิตและจะมีการจุดไฟสว่างไสวเพื่อให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตไปแล้ว ในการอาบน้ำศพผู้เสียชีวิต ญาติที่เป็นชายหรือบุตรผู้ตายจะเข้าไปช่วยอาบน้ำศพให้พ่อ ส่วนบุตรสาวหรือญาติที่เป็นสตรีจะเป็นผู้อาบน้ำศพให้แม่ ด้วยการกดท้องให้ทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายออกมาทำให้สะอาด สำหรับผู้ชายเมื่อเสียชีวิตจะห่อด้วยผ้าขาว 3 ผืน ส่วนผู้หญิงจะห่มด้วยผ้าขาว 5 ผืน ลักษณะเช่นนี้ไม่ว่าจะ

เป็นภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือของไทย อิสลามจะมีวัฒนธรรมเหมือนกันหมด เป็นวัฒนธรรมที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอาน ฉะนั้นคำว่าอิสลามจึงมีความหมายกว้างขวาง สำหรับมุสลิมแล้วถือว่าอิสลามเป็นวิถีชีวิต ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของอิสลาม
ในคำสอนของศาสนาอิสลามที่กลายมาเป็นวัฒนธรรม กลายมาเป็นประเพณีของชาวมุสลิมจะกลายเป็นประเพณีเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน พิธีกรรมทางศาสนาคือหลักปฏิบัติหลักศรัทธาเหมือนกันหมดสำหรับมุสลิมทุกภาคในประเทศไทย เช่น หลักการถือศีลอดหลักเดียวกัน การไปประกอบพิธีฮัจญ์ในรูปเดียวกัน มีการออกทานบังคับหรือซะกาตร้อยละ 2.5 แบบเดียวกัน มีวันฉลองเหมือนกันหมดทั่วประเทศและทั่วโลกคือฉลองก่อนสิ้นสุดพิธีฮัจญ์ และหลังวันถือศีลอดครบแล้ว
ในสังคมมุสลิมถือว่ามัศยิดเป็นศูนย์รวมของจิตใจ ฉะนั้นมัศยิดจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ เป็นสถานที่รวมตัวกัน ฉะนั้นจึงมีคำสอนของอิสลามว่าเวลาละหมาดไปทำที่มัศยิด ความมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อให้คนได้มารวมตัวกันให้รู้จักกัน และอิสลามนั้นไม่มีการแบ่งสีผิว เผ่าพันธุ์ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันในสายตาของพระเจ้า ไมีมีผู้หญิง ผู้ชาย ขาวดำ นิโกร ใครก็ตามที่เมื่อไปทำพิธีละหมาด หากไปถึงก่อนจะยืนอยู่แถวหน้า ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ศาสนามีความเรียบง่าย และการสักการะบูชานั้นจะสักการะเฉพาะพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว ลักษณะเช่นนี้ทำให้อิสลามไม่มีสื่อกลาง ถ้าจะเข้าหาพระเจ้าก็ขอจากพระเจ้าโดยตรง ไม่ขอจากนักบุญหรือหลุมฝังศพเหล่านี้คือวัฒนธรรมที่เหมือนกันหมดเรียกว่าวัฒนธรรมอิสลาม
วัฒนธรรมอื่น ๆ ของศาสนาอิสลามอย่างเช่นการร้องเพลง อิสลามไม่ได้ห้ามการร้องเพลง แต่มีขอบเขตกำหนดว่าดนตรีชนิดไหนจะใช้ได้ คำร้องใดที่ไม่ได้ส่อในด้านการปลุกเร้าในด้านกามโลกีย์จะได้รับอนุญาต จะเห็นว่าภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้จะไม่มีคาราโอเกะ หรือร้องรำทำเพลง ซึ่งถือว่าเป็นการขัดกับแนวคิดของอิสลามซึ่งรักความสงบ และมีดนตรีตามหลักการของตนเอง
วัฒนธรรมด้านการแต่งกายของชาวมุสลิม
สามารถแต่งกายได้ตามหลักการของศาสนาอิสลามที่เรียกว่า ฮิญาบ (Hijab) สำหรับหลักของศาสนาอิสลามย้ำว่าสำหรับผู้หญิงจะต้องปกปิดทุกส่วนในร่างกายยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือที่สามารถเปิดได้ ส่วนการแต่งกายของผู้ชายจะต้องปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า สำหรับการตั้งชื่อของชาวไทยมุสลิมนั้น สามารถตั้งชื่อเป็นภาษาอาหรับ อันเป็นภาษาศาสนาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้โอกาสของความเท่าเทียมกันในการใช้ชื่อที่มาจากภาษาอาหรับอันเป็นภาษาของศาสนาอิสลามได้
กล่าวได้ว่าศาสนาอิสลามเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ขยายออกมาในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทุกภาคของประเทศไทย จากคนที่เข้ามาหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ ทั้งมาเลย์ เปอร์เซีย ชวา อินเดีย ปากีสถาน จามและจีน เข้ามาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าแผ่นดินไทยอย่างมีความสุข ไม่มีปัญหาความขัดแย้งกัน ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและสันติ มีวัฒนธรรมอิสลามเป็นเครื่องชี้นำการดำเนินชีวิตและเป็นวิถีของชาวมุสลิมทั้งหลาย มุสลิมทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยต่างเป็นคนหนึ่งที่มีทั้งเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย มีความเป็นไทยทั้งชีวิตและจิตวิญญาณที่จะอยู่ร่วมกันกับคนไทยทั้งหลายอย่างสงบสุขตามคำสอนของศาสนาอิสลามตลอดไป